รีวิวทดสอบขี่ New Hunter 350
Street Bike Riding In The City At Night

LINE it!

       คาดไม่ถึงจะมีการทดสอบรถมอเตอร์ไซค์ในช่วงกลางคืน ซึ่งไม่เคยมีค่ายไหนจัดมาก่อน แต่รอยัล เอ็นฟิลด์ ต้องการสร้างความแตกต่างที่ไม่ลอกเลียนแบบใคร จึงจัดทดสอบขับขี่แบบ Night Ride  กับ New Royal Enfield Hunter 350 รถสตรีทไบค์ที่ดีไซน์เท่มีสไตล์ตามแบบฉบับของรอยัล เอ็นฟิลด์ พร้อมกับขุมเครื่องยนต์สูบเดียวขนาด 350 ซีซี.ที่ให้แรงม้า 20.2 ตัว กับเกียร์ธรรดาแบบ 5 สปีด ที่ให้สมรรถนะในการขับขี่สนุกตอบสนองได้ทุกเกียร์ จึงให้ความคล่องตัวได้อย่างดี  



       หลังจากเปิดตัวรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่  รอยัล เอ็นฟิลด์ Hunter 350 อย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่บริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี โดยงานนี้มีบรรดาสื่อมวลชนจากทั่วโลกประมาณ 74 ประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนในไทยด้วย ซึ่งได้จัดทดสอบขับขี่ Hunter 350 ในช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ตามหมายกำหนดการตั้งแต่เวลา 20.30-02.30 น. โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ แต่ละกลุ่มจะมีรถที่ใช้ขับขี่ประมาณ 8 คัน ซึ่งมีทั้งรุ่น Retro และรุ่น Metro 





      พอถึงเวลาของกลุ่มที่ 4 ในเวลา 21.30 น. เป็นเวลาที่ฝนกำลังตกลงมาพอดี  แต่ทีมงานยังไม่ยกเลิกกิจกรรมนี้ พวกเราจึงได้ตัดสินใจขับขี่ลุยฝนจากจุดเริ่มต้นที่ โรงแรมดับเบิ้ยยู ย่านสาทร  โดยมีภาระกิจในการทดสอบขับขี่ทั่วกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 103 กม. โดยจะไปจุดแรกที่เสาชิงช้า แถววัดสุทัศน์ และต่อมาจุดที่สอง ช่างชุ่ย ย่านบางพลัด จากนั้นไปยังจุดหมายปลายทางที่ Impact Speed Park เมืองทองธานี  และช่วงเดินทางกลับได้เปิดให้ฟรีรันขับขี่แบบเต็มกำลังบนพื้นถนนแห้ง เพื่อมุ่งสู่โรงแรมที่พัก ซึ่งกว่าจะมาถึงก็ปาเข้าไปตี 02.30 น.    



       จากรูปทรงของตัวรถ รอยัล เอ็นฟิลด์ Hunter 350  จัดว่าเป็นรถที่ได้รับออกแบบในสไตล์สตรีทไบค์ เพื่อเน้นให้ขับขี่ง่ายมีความคล่องตัว สามารถที่จะใช้ขับขี่ได้ทุกวันไปบนถนนหนทางที่แม้จะมีสภาพจราจรที่ติดขัดหนักอย่างกรุงเทพฯ ก็สามารถที่ซอกแซกขับขี่ไปได้อย่างสบาย ว่าไปแล้วเจ้าฮันเตอร์ 350 ดูโดยรวมแล้วก็แพลทฟอร์มเดียวกับ Meteo 350 และ Classic 350  ซึ่งเป็นรถรุ่นพี่ที่มีขนาดไซน์เดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในหลาย ๆ จุด โดยเฉพาะน้ำหนักตัวรถที่รุ่นนี้มีน้ำหนัก 179 กก.น้อยกว่ารถรุ่นพี่ประมาณ 18 กก.จึงทำให้มีความคล่องตัวที่มากกว่า 



       มาว่ากันเรื่องดีไซน์ของ Hunter 350 จะมาสไตล์ย้อนยุคด้วยไฟหน้าทรงกลมหลอดไฟฮาโลเจน ที่เข้ากับรถสไตล์นี้ พร้อมไฟเลี้ยวทรงกลมแบบมีก้าน มีเรือนไมล์ทรงกลมแบบอนาล็อกผสมกับดิจิตอลได้อย่างลงตัว คู่กับหน้าจอแบบทริปเปอร์  ยกเว้นรุ่นเรโทรจะไม่มีจอทริปเปอร์มาให้ โดยโช้คอัพหน้าแบบเทเลสโคปิคที่มียางหุ้มกระบอกแกนโช้คไว้ ในขณะที่ถังน้ำมันที่มีความจุได้ 13 ลิตรซึ่งในรุ่นเมโทรดูจะมีลูกเล่นสีสันทูโทนกับลวดลายที่โดนใจ  ยกเว้นถังน้ำมันรุ่นเรโทรจะเรียบง่ายไปหน่อย พร้อมด้วยไฟเลี้ยงทรงเหลี่ยมสู้ไฟเลี้ยวทรงกลมไม่ได้ 



       ในการขับขี่รถจักรยานยนต์เวลากลางคืนท่ามกลางฝนตกนั้นดูจะได้ฟิวส์ไปอีกแบบ ซึ่งเป็นการขับขี่แบบตาม ๆกันไป ไม่ได้ใช้ความเร็วมากนัก เพราะต้องขี่ลุยฝนที่ตกอยู่ตลอดเวลาและถนนค่อนข้างลื่น จึงต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวังแต่ด้วยฟิลลิ่งของรถรุ่นนี้รับรู้ได้เลยว่าขี่ง่ายเบาะนั่งไม่สูงเท่าไหร่ประมาณ 790 มม.ทำให้ผู้ขับขี่ที่สูงราว 165 ซม.สามารถที่ใช้เท้าเหยียบพื้นได้ ยิ่งผู้ขับขี่ทดสอบสูงถึง 180 ซม.จึงนั่งขับขี่ได้อย่างสบาย และแฮนเดิ้ลแบบปีกนกทรงต่ำจับได้กระชับมือหักเลี้ยวไปตามถนนหนทางได้อย่างคล่องตัว เพราะต้องคอยหลบพื้นถนนที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา





        มาดูในส่วนของเครื่องยนต์ในรุ่น Hunter 350 มีขนาด 349 ซีซี. โดยเป็นเครื่องยนต์ J-series ประเภทสูบเดียว 4 จังหวะ แบบซิงเกิ้ลโอเวอร์เฮดแคมชาร์พมี  2 วาล์ว ที่ระบายความร้อนด้วยอากาศบริเวณเสื้อสูบกับน้ำมันที่ช่วยระบายความร้อนที่ฝาสูบ   ซึ่งไม่ได้ต่างจากรถรุ่นพี่ที่มีเครื่องยนต์เดียวกันกับ Meteor และ Classic 350 โดยมีระบบจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีดไฟฟ้า พร้อมให้กำลังสูงสุด 20.2 แรงม้าที่ 6100 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 27 นิวตันเมตรที่ 4000 รอบต่อนาที พร้อมกับเกียร์ธรรมดาแบบ 5 สปีด และยังมีเพลาบาลานเซอร์ที่ช่วยลดการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ 



        ระหว่างทางจัดว่าเป็นประสบการณ์การขับขี่ในเมืองที่น่าจดจำอย่างมากเพราะผ่านเส้นทางต่าง ๆที่คุ้นเคย  แต่ไม่เคยได้ขับขี่ในช่วงกลางคืนแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นย่านหัวลำโพง   ผ่านเยาวราชที่เป็นแหล่งตลาดขายอาหารกลางคืน เลยมาถึงภูเขาทอง ซึ่งในช่วงนี้เส้นทางค่อนข้างโล่งรถมีไม่มากเท่าไหร่ทำให้สามารถขับขี่ไปตามทางได้ง่ายขึ้น โดยความเร็วที่ใช้อยู่ประมาณ 60 กม./ชม.ใช้เกียร์อยู่ประมาณเกียร์ 3 ก็เพียงพอแล้ว 



        หรือบางช่วงก็เร่งความเร็วอยู่ระหว่าง 80-100 กม./ชม.ในตำแหน่งเกียร์ 4 ที่ให้กำลังตอบสนองได้ดีทีเดียว แม้บางครั้งความเร็วจะตกลงมาอยู่ราว 60 กม./ชม. แต่ก็สามารถจะบิดคันเร่งเพิ่มความเร็วขึ้นไปอีกได้สบาย ๆ โดยไม่มีอาการสะท้านของเครื่องให้รู้สึกเลย และแม้จะต้องขับขี่ลุยฝนที่รู้สึกได้เลยว่าถนนลื่นพอตัวแต่ด้วยประสิทธิภาพของยางใหม่ที่ช่วยให้เกาะถนนได้ดีทีเดียวไม่มีอาการลื่นให้รู้สึกเลย รวมถึงเวลาหลบถนนที่น้ำขังไม่ทันก็ลุยผ่านไปเลยก็สามารถรีดน้ำไปได้เช่นกัน 



        ถึงแม้จะไม่สามารถทำความเร็วได้เต็มที่ ซึ่งทางรอยัล เอ็นฟิลด์ ล็อกสปีดสูงสุดที่ 120 กม./ชม. แต่การขับขี่ในเมืองเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูง แค่ตัวรถมีความคล่องตัวสามารถซิกแซกเลี้ยวซ้ายขวาแทรกไปตามถนนได้ก็น่าพอใจแล้ว และอีกอย่างที่รับรู้ได้ก็เห็นจะระบบกันสะเทือนทั้งหน้าและหลังของ Showa แบรนด์ดังที่มาช่วยซับแรงสะเทือนได้ดีทีเดียว เพราะต้องขับขี่ไปตามซอกซอยผ่านลูกระนาดอยู่บ่อยครั้งก็ให้รู้สึกถึงความนุ่มนวลไม่มีอาการกระแทกให้รู้เลย  และยิ่งช่วงคอสะพานก็ยังรับแรงสะเทือนได้หายห่วง



        และตลอดเส้นทางการขับขี่ถึงแม้จะเน้นใช้เบรกหลังเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม  โดยช่วงแรกยังไม่ค่อยกล้าใช้เบรกหน้าเท่าไหร่เพราะถนนค่อนข้างลื่นแต่เบรกหลังก็เอาอยู่  แต่พอขี่ไปได้สักพักลองบีบเบรกหน้าเล็กน้อยคู่กับเบรกหลัง ก็ช่วยให้ระยะหยุดสั้นลงไปอีก และที่สำคัญเวลาบีบเบรกหน้าค่อนข้างนุ่มมือทำให้สามารถกะระยะในการเบรกได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เบรกแข็งกดทีหัวทิ่ม โดยมาพร้อมกับจานเบรกขนาดใหญ่ถึง 300 มม.กับคาลิปเปอร์แบบ 2 ลูกสูบ พร้อมระบบ ABS แบบ 2 ทิศทาง จึงช่วยระบบเบรกมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเวลาเบรกก็มั่นใจขึ้นว่าเบรกจะไม่ล็อกแม้จะขี่มาเร็วก็ตามยังช่วยให้ชะลอความเร็วลงมาได้ทันที     



        ปิดท้ายขากลับจากเมืองทองธานีมุ่งสู่โรงแรมดับเบิ้ลยู ย่านสาทร โดยให้ขับขี่แบบฟรีรัน เพราะถนนหนทางเริ่มแห้งแล้ว ทำให้บรรดาผู้ขับขี่ทดสอบต่างเค้นพละกำลังของ Hunter 350 ซึ่งมีเท่าไหร่ก็ต้องปล่อยออกมาให้หมด โดยเฉพาะช่วงถนนวิภาวดีรังสิตในเวลาตี 2 กว่า...ถนนโครตโล่ง แม้งานนี้จะไม่ใช่ขาซิ่งแต่ก็ต้องเร่งความเร็วตามพรรคพวก เพราะเล่นเปลี่ยนเกียร์กันอย่างต่อเนื่องทำให้ความเร็วเร่งขึ้นจาก 60 ไปที่ 100 กม./ชม.ใช้เวลาแป๊บเดียว และบิดกันหมดปอกสามารถไหลลื่นไปถึง 120 กม./ชม.ได้ แต่ด้วยแรงลมปะทะหน้าเลยต้องก้มหน้าเล็กน้อยในการขับขี่ ขณะที่การทรงตัวจัดว่านิ่งใช้ได้

       
       สรุปโดยรวมแล้วถึงแม้ว่า รอยัล เอ็นฟิลด์  Hunter 350 จะไม่ใช่รถโมเดลใหม่ทั้งหมด แต่ด้วยรูปทรงดีไซน์สตรีทไบค์เต็มตัวที่ดูแล้วก็มีแตกต่างจากรุ่นซีรีส์ 350 ทั้ง Meteor กับ Classic ในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะน้ำหนักตัวรถที่ลดลงมาไม่น้อย กับขุมพลังเครื่องยนต์ 350 ซีซี.ก็สามารถที่ช่วยให้สมรรถนะการขับขี่มีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งระบบกันสะเทือนที่มีประสิทธิภาพ กับระบบเบรกที่มั่นใจได้  ทำให้สามารถตอบโจทย์ผู้ขับขี่ที่เน้นใช้งานในเมืองได้อย่างลงตัว  โดยมีให้เลือก 2 รุ่นคือรุ่น Retro Hunter ราคา 129,900 บาท กับ รุ่น Metro Hunter ราคา 132,900 บาท ที่สนนราคาจับต้องได้ 
            


 

คำค้น : ทดสอบขี่ Hunter 350 , รอยัล เอ็นฟิลด์ hunter 350 , New Royal Enfiled Hunter 350 , รีวิวขับขี่ Hunter 350 , Royal Enfiled Hunter 350 รุ่นใหม่ , เปิดตัวรอยัล เอ็นฟิลด์ Hunter 350 ,ลองขี่ Hunter 350 รุ่นใหม่ 2022 , รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์รุ่นใหม่ 2022 , ขับขี่ New Hunter 350 ปี 2022 , รอยัล เอ็นฟิลด์ ฮันเตอร์ ปี 2022 , รอยัล เอ็นฟิลด์แนะนำ Hunter 350 รุ่นใหม่